วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ทำไมเวลาโดนงูกัด หมอจึงต้องให้รอ?

งูพิษ ในปัจจุบัน เราสามารถแยกตามการทำงานของพิษได้ 3 ระบบหลักๆ คือ
1.พิษทำลายระบบประสาทเป็นหลัก ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา เป็นต้น พิษมีผลทำให้เกิดการเป็นอัมพาตของอวัยวะ และทำให้เกิดอาการหัวใจวาย จนเสียชีวิต
2.พิษทำลายระบบเลือดเป็นหลัก ได้แก่ งูกะปะ งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ เป็นต้น พิษมีผลทำให้ เกิดอาการ ปวดอย่างรุนแรง บวม และเลือดไหลไม่หยุด
3.พิษทำลายระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ กลุ่มงูทะเลทั้งหลาย พิษมีผลทำให้เกิดไตวาย(ไม่มีเซรุ่ม รักษาตามอาการอย่างเดียว)
คราวนี้ในเมื่อพิษมีการทำงานที่ต่างกัน เซรุ่มที่ใช้ก็ต้องต่างกัน ปัจจุบันเรามีเซรุ่มงูอยู่ 7ชนิด และเซรุ่มรวมอีก 2 ประเภท แพทย์จำเป็นต้องรู้ชนิดงูที่แท้จริง ว่าเป็นงูชนิดใดกัด ถึงจะสามารถให้เซรุ่มได้ถูกต้อง
การให้เซรุ่ม ไม่เหมือนกินพาราเซตามอล เพราะถ้าให้เซรุ่มผิด นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว หากผู้ป่วยมีอาการแพ้เซรุ่ม อาการอาจจะยิ่งหนักขึ้นไปใหญ่ ดังนั้นทุกอย่าง จึงต้องมีขั้นตอนในการรักษาด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ในมาตรการในการรักษาของแพทย์จะต้องมีวิธีในการรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดดังนี้
1.ตรวจสอบอาการของผู้ป่วย และจำแนกชนิดงูที่กัดให้ชัดเจน
2.ทำการตรวจเช็คผลการทำงานของพิษในกระแสเลือด เนื่องจากมีบ่อยครั้ง ที่งูพิษกัดผู้ป่วยแล้วไม่ยอมปล่อยพิษ (กัดแห้ง) ถ้าเป็นในลักษณะนี้แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาอีกแบบ โดยอาจไม่ต้องให้เซรุ่ม
3.หากผลการทดสอบยืนยันชัดเจนว่ามีการทำงานของพิษ และผู้ป่วยมีลักษณะอาการของพิษ และสามารถจำแนกชนิดงูได้ชัดเจน แพทย์จึงจะพิจาณาการรักษาโดยการให้เซรุ่มตามความเหมาะสมในทันที
4.หากชนิดงูที่กัด ถูกยืนยันว่ามีพิษ แต่ไม่มีอาการของพิษแสดงออกมา แต่แพทย์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องรอดูอาการอีก 24-48 ชั่วโมง เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้ป่วย ทั้งนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์
ดังนั้นถ้าเราเข้าใจ สิ่งที่เราจะทำให้กระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาน้อยลงได้ คือ การถ่ายภาพที่ชัดเจนของงูที่กัด หรือ นำงูที่กัดมาสถานพยาบาลด้วย ตั้งสติเล่าเหตุการณ์และอาการในปัจจุบันให้แพทย์ฟังอย่างชัดเจน และการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อถูกงูกัด ก็จะช่วยยืดเวลาชีวิตของเราได้หลายชั่วโมงเลยทีเดียว เมื่อทราบกันแล้ว ขอให้ทุกคนอยู่กันด้วยความเข้าใจและปลอดภัยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น